"ทำไมอุบัติเหตุ ถึงทำให้พิการได้" มารู้จักอาการบาดเจ็บไขสันหลัง หรือ Spinal Cord Injury (SCI) กันว่า กายภาพบำบัดมีบทบาทอย่างไรสำหรับผู้ป่วย SCI...
ระบบประสาทสมองและไขสันหลังเป็นหนึ่งในระบบของร่างกายที่มีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากสมองทำหน้าที่สั่งการเพื่อควบคุมอวัยวะต่างๆในร่างกาย และไขสันหลังจะทำหน้าที่รับและส่งสัญญาณกระแสประสาทระหว่างสมองกับกล้ามเนื้อ
ดังนั้น หากไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย โดยเฉพาะการทำงานของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย
การบาดเจ็บบริเวณไขสันหลังอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ
- ส่วนมากจะมาจากอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะจักรยานยนต์และรถยนต์ตามลำดับ
- การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี
- อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา
- อุบัติเหตุจากการทำงาน เช่น พลัดตกจากที่สูง
เกินกว่าครึ่งของผู้ป่วย SCI นั้น พบในช่วงอายุประมาณ 16-30 ปี พบในเพศชายมากกว่า 80% และในเพศชายนั้น มากกว่า 90% พบการบาดเจ็บที่ไขสันหลังจากการเล่นกีฬา
การบาดเจ็บบริเวณแนวกระดูกสันหลัง อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณไขสันหลังข้างใน รวมถึงรากประสาทในโพรงกระดูกสันหลัง ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญของแกนกลางร่างกาย ที่มีทั้งระบบประสาทรับความรู้สึกและการสั่งการไปยังสมอง เพื่อส่งกระแสประสาทไปควบคุมการทำงานของร่างกาย
การบาดเจ็บไขสันหลัง (SCI) จะแบ่งตามระดับของกระดูกสันหลัง ออกเป็น
- กระดูกสันหลังส่วนคอ (Cervical Spine) C1-C7
- กระดูกสันหลังส่วนอก (Thoracic Spine) T1-T12
- กระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar spine) L1-L5
- กระดูกก้นกบ (Sacral&Coccyx Spine) S1-S5
ซึ่งในแต่ละระดับของกระดูกสันหลัง จะมีไขสันหลังและเส้นประสาทไขสันหลัง อยู่ในทุกระดับ
การบาดเจ็บไขสันหลังแบ่งออกเป็น
- Incomplete SCI เป็นอาการบาดเจ็บของไขสันหลังเพียงบางส่วน จึงทำให้การทำงานของไขสันหลังไม่ได้สูญเสียไปทั้งหมด
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ยังสามารถทำงานได้ในไขสันหลังระดับนั้นๆ เช่น การบาดเจ็บบางส่วนบริเวณไขสันหลังช่วงอก ระดับที่ 10 (T10) ซึ่งอาจทำให้พบว่า ยังพอมีแรงของกล้ามเนื้อที่ขาและประสาทรับความรู้สึกบริเวณดังกล่าวร่วมด้วย ซึ่งจะแตกต่างกับ
- Complete SCI เป็นการบาดเจ็บของไขสันหลังแบบทั้งหมด ซึ่งจะไม่พบทั้งแรงของกล้ามเนื้อและประสาทรับความรู้สึกเลย เช่น กรณีคนไข้บาดเจ็บกระดูกสันหลังระดับ T10 ส่วนที่อยู่ใต้ T10 จะใช้งานไม่ได้เลย กายภาพบำบัดจะเน้นความแข็งแรงกล้ามเนื้อส่วนที่อยู่เหนือระดับ T10 เพื่อให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด
หมายเหตุ ประเภทของ Incomplete SCI นั้นมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบก็มีอาการและอาการแสดงแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับรูปแบบนั้นๆ
การบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง จะถูกแบ่งตามความรุนแรงของอาการและรอยโรค ตาม American Spinal Injury Association (ASIA) เป็น Class A-E ตามความรุนแรงจากมากไปน้อย ซึ่งระดับความรุนแรงจะจัดเรียงตามผลกระทบทางด้านการรับความรู้สึกของร่างกายและการสั่งการของกล้ามเนื้อ ในระดับที่บาดเจ็บของไขสันหลังนั้นๆ
การรักษาทางการแพทย์
ส่วนใหญ่การบาดเจ็บบริเวณไขสันหลังจะเป็นเคสที่ฉุกเฉิน (Emergency case) จึงจำเป็นจะต้องประเมินความรุนแรงและรับการรักษาจากแพทย์โดยเร่งด่วน ทั้งนี้การรักษามีทั้งการรักษาโดยการผ่าตัดและประคองอาการ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของรอยโรคที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
หลังจากอาการผู้ป่วยคงที่และได้รับการรักษาจากแพทย์ บทบาทของนักกายภาพบำบัดในการดูแล รักษาและฟื้นฟูในผู้ป่วยกลุ่ม SCI นั้น จะต้องประเมินถึงระดับความรุนแรงของโรคและระดับของไขสันหลังที่เกิดการบาดเจ็บว่าอยู่ในระดับใด เพื่อประเมินการฟื้นตัวและวางแผนการฟื้นฟู รวมถึงสิ่งที่คนไข้จะได้รับจากการทำกายภาพบำบัด
อาการส่วนใหญ่ที่พบ มักพบทั้งการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขน-ขาทั้งสองข้าง ซึ่งภายหลังได้รับการบาดเจ็บไขสันหลัง ร่างกายจะสูญเสียการทำงาน การสั่งการของไขสันหลังระดับที่ต่ำกว่าบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงการรับความรู้สึกที่ลดน้อยลงหรือเพิ่มขึ้นกว่าปกติ
การฝึกจะเน้นให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันได้ การฝึกกิจวัตรประจำวัน เช่น การเคลื่อนย้ายตัวจากเตียงไปรถเข็น การฝึกยืน การฝึกเดิน เป็นต้น
การฟื้นฟูกรณี Incomplete SCI (การบาดเจ็บไขสันหลังบางส่วน) จะเน้นการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อของผู้ป่วยโดยรวมทั่วร่างกาย ฝึกทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการกระตุ้นไฟฟ้าในส่วนที่ยังมีเส้นประสาทมาเลี้ยงด้วย
ส่วนในกรณี Complete SCI (การบาดเจ็บไขสันหลังทั้งหมด) จะเน้นการเสริมกำลังกล้ามเนื้อในส่วนที่ใช้งานได้ปกติ หรือบริเวณเหนือต่อระดับไขสันหลังที่ได้รับการบาดเจ็บ เพื่อให้การทำงานกล้ามเนื้อของผู้ป่วยกลับมาใช้งานได้มากที่สุด
นอกจากนี้ นักกายภาพบำบัดมีความจำเป็นในการช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น การป้องกันข้อต่อยึดติด การเกิดอาการบวมของแขน-ขา การชะลอภาวะกล้ามเนื้อฝ่อลีบ
การฟื้นตัวของผู้ป่วยนั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของรอยโรคที่เกิดขึ้น และระดับของไขสันหลังที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งหากระดับไขสันหลังที่ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บยิ่งอยู่สูง จะยิ่งทำให้อาการรุนแรง และสูญเสียการทำงานของร่างกายมากขึ้น การเข้ารับการฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดโดยผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
** ทาง Brain Rehab Clinic (เบรน รีแฮบ คลินิกกายภาพบำบัด) มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านกายภาพบำบัด ระบบประสาทและสมอง ที่สามารถตรวจประเมินร่างกาย วางแผนการรักษา ดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยทางระบบประสาทและสมองโดยเฉพาะ เพื่อการรักษา ฟื้นฟูของผู้ป่วย ได้อย่างครอบคลุมและปลอดภัย **
เราเปิดทำการทุกวันเวลา 9.30 - 20.00 น.
กรุณาติดต่อช่องทางออนไลน์ เพื่อทำการนัดหมาย
Location:
อยู่ห้อง
B-13 ชั้น B-1 (ข้างออฟฟิศเมท) อาคารจัสมินซิตี้ อโศก
ปากซอยสุขุมวิท 23
https://goo.gl/maps/yc3JW
จอดรถฟรี 3 ชั่วโมง
Location: อยู่บนถนนรัตนาธิเบศร์ตัดราชพฤกษ์
อยู่ติด MRT บางรักใหญ่ ทางออก 2
https://goo.gl/maps/wTdR4
มีที่จอดรถ 4-5 คัน